19 เมษายน 2554

Lifestyle & Health : 10 อาชีพเสี่ยงอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง

10 อาชีพเสี่ยงอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง
อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังพบบ่อยในคนวัยทำงานที่มีพฤติกรรมหรือการทำกิจวัตรประจำวันที่ซ้ำๆ กัน วันนี้เรามีวิธีดูแลและท่าบริหารร่างกายแบบง่ายๆในออฟฟิศมาฝากกัน...
สมัยนี้อะไรต่อมิอะไรก็ส่งผลให้ชีวิตเราเกิดความเสี่ยงได้ แม้กระทั่งหน้าที่การงานของเราเองก็ยังมีส่วนเป็นตัวกำหนดสุขภาพในอนาคต อย่างทำงานในโรงงาน เสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ อาชีพดีเจ เสี่ยงต่อการเป็นโรคบกพร่องเกี่ยวกับการได้ยิน อาชีพนักร้อง เสี่ยงต่อการเป็นโรคกล่องเสียงอักเสบ เป็นอาทิ แต่ยังมีโรคอีกประเภทที่ไม่ต้องรอให้ถึงอนาคตก็เข้ามาทักทายเยี่ยมเยือนแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว บางครั้งเข้ามารบกวนชีวิตการทำงาน เป็นๆ หายๆ ไม่เลิก ไม่ว่าจะเป็นการปวดศีรษะ ปวดบ่า ปวดไหล่ ปวดสะบัก ปวดหลัง และอีกหลากหลายสารพัดโรคปวด อาการทั้งหลายเหล่านี้เกิดจากการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังในบริเวณอวัยวะที่ถูกใช้ในท่าซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ หรือที่เราเรียกว่า อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง
ในงานสัมมนาเพื่อสุขภาพ Hub of Wellness ที่จัดโดยไลฟ์เซ็นเตอร์จึงได้เชิญแพทย์อายุรเวท วิภาพร สายศรีจากดอกเตอร์แคร์ คลินิก ศูนย์รักษาไมเกรนและโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง มาไขปัญหาเกี่ยวกับอาชีพที่เสี่ยงต่ออาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังว่ามีอาชีพใดบ้าง พร้อมวิธีดูแลสุขภาพและท่าบริหารแบบง่ายๆ ที่ทำได้ในออฟฟิศ ในหัวข้อ เกร็ดเล็กๆ รอบตัวในที่ทำงาน กับการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง
คุณเป็นคนเหล่านี้หรือไม่ ?- เช็ก!! 10 อาชีพเสี่ยง
แพทย์อายุรเวท วิภาพร กล่าวว่า อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังพบบ่อยในคนวัยทำงานที่มีพฤติกรรมหรือการทำกิจวัตรประจำวันที่ซ้ำๆ กัน เช่น ใช้สายตาจ้องคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน ถือหรือสะพายของหนักๆ ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ เป็นต้น และ 10 อาชีพยอดนิยมที่มีความเสี่ยงต่ออาการปวดเรื้อรังมีดังนี้
1.วิศวกร มีพฤติกรรมก้มๆ เงยๆ และใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นคอ หัวไหล่ รวมไปถึงข้อมืออีกด้วย
2. ดีไซเนอร์ มีพฤติกรรมการขีดๆ เขียนๆ แบบเป็นเวลานานๆ เสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นข้อ หัวไหล่ ข้อมือ และอาจจะมีอาการของนิ้วล็อกร่วมด้วยได้
3.แอร์โฮสเตส มีพฤติกรรมการทำงานที่ต้องยกของหนัก เอื้อมหยิบเก็บของบนที่สูง เข็นรถและเสิร์ฟอาหาร เป็นประจำ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ บ่า สะบัก หัวไหล่ รวมไปถึงท่อนแขนได้อีกด้วย
4.เซลส์แมน มีพฤติกรรมการยกของหนัก ขับรถเป็นเวลานาน ใช้คอมพิวเตอร์ คุยโทรศัพท์ ใช้บีบี ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นข้อ หัวไหล่ ข้อมือ และอาจจะมีอาการของนิ้วล็อกร่วมด้วยได้
5.นักคอมพิวเตอร์ มีพฤติกรรมก้มๆ เงยๆ ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นคอ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว อาจรวมไปถึงมึนศีรษะ อาเจียน ซึ่งเป็นอาการของไมเกรนอีกด้วย
6.นักบัญชี พฤติกรรมก้มๆ เงยๆ ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน และใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันกับตัวเลขเอกสารต่างๆ มากมาย จึงทำให้นักบัญชีมีความเสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นคอ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว อาจรวมไปถึงอาเจียน ซึ่งเป็นอาการของไมเกรนอีกด้วย
7.สถาปนิก มีพฤติกรรมการขีดๆ เขียนๆ ออกแบบ เขียนแบบเป็นเวลานานๆ เสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นคอ หัวไหล่ ข้อมือ มีอาการของนิ้วล็อก และชาแขนร่วมด้วยได้
8.โฟร์แมน มีพฤติกรรมก้มๆ เงยๆ อยู่กลางแดดเป็นเวลานานๆ เสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้อคอบ่าอักเสบ ตาพร่า มีโอกาสเสี่ยงเป็นไมเกรนได้
9.ทันตแพทย์ มีพฤติกรรมก้มๆ เงยๆ บิดตัว เอี้ยวตัว เกร็งข้อมือและนิ้วมือ ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ส่งผลทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคปวดบ่า ต้นคอ สะบัก หลัง รวมไปถึงอาจจะเป็นนิ้วล็อกได้
10.ผู้บริหาร มีพฤติกรรมใช้งานคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ อีกทั้งมีความเครียดสูง มีผลทำให้กล้ามเนื้อต้นคอเกร็ง ส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงศีรษะไม่เพียงพอ มึนศีรษะ ปวดขมับ ปวดกระบอกตา ตาพร่า นอนไม่หลับ จนส่งผลให้เป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังหรือไมเกรนได้
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง
อย่านิ่งนอนใจ ควรจะหาวิธีป้องกันและดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ โดยแพทย์อายุรเวท วิภาพร ได้แนะเกร็ดความรู้การดูแลตัวเองแบบง่ายๆ พร้อมท่าบริหารคลายกล้ามเนื้อ ที่อาชีพไหนก็ทำได้ในที่ทำงาน
1.อย่าใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเกินกว่า 2 ชั่วโมง
2.ยุติกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อบริเวณบ่าและคอทันทีที่รู้สึกเกร็ง
3.บริหารกล้ามเนื้อบริเวณบ่า และคอ ด้วยการยืดกล้ามเนื้อ หลังการใช้คอมพิวเตอร์ทุกครั้ง
4.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน และแอลกอฮอล์ เมื่อมีอาการปวดศีรษะ
5.พักผ่อน และทำสมาธิ เมื่อมีความเครียด เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
6.ประคบน้ำอุ่นบริเวณบ่า และต้นคอ เพื่อทำให้กล้ามเนื้อคลายจากการเกร็งตัว
7.ควรวางแขนตั้งแต่ข้อศอกลงไปถึงข้อมือไว้บนโต๊ะเวลาใช้คีย์บอร์ด
8.ควรใช้กระเป๋าล้อลากแทนกระเป๋าสะพายคอมพิวเตอร์
9.ใช้หมอนรองหลังวางที่พนักเก้าอี้ทำงาน
ท่าบริหารผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
ท่าที่ 1 หันศีรษะไปทางด้านซ้ายช้าๆ ใช้มือซ้ายช่วยดึง ค้างไว้นับ 1-10 วินาที จากนั้นสลับทำด้านขวา
ท่าที่ 2 ก้มศีรษะพยายามให้คางชิดอกมากที่สุด ค้างไว้ 10 วินาที
ท่าที่ 3 เงยหน้าขึ้นช้าๆ ไปด้านหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ค้างไว้ 10 วินาที
ท่าที่ 4 เอียงศีรษะไปทางด้านขวา ใช้มือขวาช่วยดึง พยายามให้ศีรษะชิดไหล่มากที่สุด ค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นทำสลับด้านซ้าย
ท่าที่ 5 หันศีรษะไปทางด้านซ้าย 45 องศา ใช้มือขวาช่วยดึงพร้อมก้มลงช้าๆ ค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นทำสลับด้านขวา
 - หวังว่าข้อมูลนี้จะมีประโยชน์ต่อเพื่อนชาว DPSB บ้างนะค่ะ ใครอยากรู้เรื่องอะไรก็บอกได้นะค่ะ ทางเราจะพยายามหามาฝากเพื่อนกันค่ะ ที่สำคัญเข้ามาแนะนำติชมกันบ้างก็ได้นะค่ะ ง่ายๆ แค่สแกนบาร์โค้ดข้างๆได้เลย แล้วก็แสดงความคิดเห็นกันมาได้เลยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจากโพสทูเดย์ (http://www.posttoday.com/lifestyle/health-me/กาย/82286/10-อาชีพเสี่ยงอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น